ปตท.ปรับทัพรับวิชั่นใหม่ ‘อรรถพล’ ชูบริษัทพลังงานแห่งอนาคต

เรื่องที่น่าสนใจ

“อรรถพล” ตั้งวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ ปตท.ก้าวสู่บริษัทพลังงานแห่งอนาคต ดันปั๊มน้ำมัน “มินิคอมมูนิตี้มอลล์” หนุนยอดขายธุรกิจนอนออยล์ในปั๊มแตะ 50% ใน 5 ปี จัดโครงสร้าง 6 ธุรกิจใหม่ “โออาร์” หัวหอกขับเคลื่อนธุรกิจไลฟ์สไตล์ เตรียมแจงพนักงาน 25 มี.ค.64

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นทางธุรกิจบนแอพลิเคชัน ClubHouse เมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค.2564 หัวเรื่อง “CEO โซเซ, Just Say So” คุยกับ CEO หลังโควิดธุรกิจเอาไงต่อ

นายอรรถพล ฤกษพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ประเมินสถานการณ์ธุรกิจปั๊มน้ำมันในอนาคต ผู้บริโภคจะใช้บริการน้อยลง โดยเฉพาะหากรถยนต์สันดาปเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มากขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่จะชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน ดังนั้นปั๊มน้ำมันก็จะต้องเปลี่ยนโฉมไป

ทั้งนี้ ปตท.ไม่ได้มองปั๊มน้ำมันเป็นเพียงปั๊มมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มองว่าปั๊มน้ำมันต้องเปลี่ยนเป็นคอมมูนิตี้เซ็นเตอร์ เป็น “มินิคอมมูนิตี้มอลล์” ดังนั้นธุรกิจหรือกิจกรรมในปั๊มต้องเป็นประโยชน์และเพิ่มความสะดวก โดยหากเทียบกับคอมมูนิตี้มอลล์ หรือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดที่จอดรถหลายชั้น แต่ปั๊มมีชั้นเดียวและพื้นที่ไม่มาก อยู่ระยะสายตาของผู้บริโภคที่จะสะดวกมามาใช้บริการ

รวมถึงหากอำเภอใดที่รอห้างสรรพสินค้าไปตั้งก็อาจมาใช้บริการ เพราะห้างสรรพสินค้าจะรอดูความคุ้มค่าการลงทุนเทียบจำนวนประชากรในพื้นที่ แต่ปั๊มมีขนาดเล็กและแทรกเข้าถึงประชากรได้ทุกที่ ดังนั้นร้านอาหารแบรนด์ดังที่ต้องการเปิดในห้างอาจรอนาน เพราะไม่รู้ว่าห้างจะมาตั้งเมื่อใด แต่ถ้ามาเปิดร้านในปั๊ม “พีทีที สเตชั่น” จะง่ายกว่าและเปิดได้ทุกพื้นที่ทำให้ร้านค้าแบรนด์ดังมีโอกาสขยายธุรกิจได้ทุกอำเภอ

“KPI ที่เราวัดผลสำเร็จการดำเนินงานของปั๊มไม่ใช่ยอดขายน้ำมันแล้ว เราตั้งเป้าให้ปั๊มมีธุรกิจเสริม ซึ่งเคยจับสถิติ 3-4 ปีก่อน พบว่า ปั๊มที่มีธุรกิจเสริม จะมีคนที่เข้ามาโดยไม่เติมน้ำมันเลย แต่มาทำกิจกรรมอื่น 30% เราตั้งเป้าให้ได้ 50% ภายใน 5 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปความต้องการเติมพลังงานในปั๊มน้อยลงเราก็อยู่ได้”

ทั้งนี้ ทิศทาง ปตท.ในอนาคตไม่ว่าปรับรูปแบบธุรกิจอย่างไร แต่ไม่ลืมวัตถุประสงค์แรกของการจัดตั้งองค์กร คือ การเป็นบริษัทที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เพียงแต่ว่าพลังงานในอนาคตจะเปลี่ยนไป แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ปตท.ต้องเข้าไปทำสู่ธุรกิจนั้น ดังนั้น พอร์ตธุรกิจ ปตท.ในอนาคตไม่ใช่แค่พลังงานแต่เป็น Energy and beyond

ดังนั้น ปตท.เปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่จากเดิม “Thai premier multinational energy company” เป็น “Powering life with future energy and beyond” หลังจากวิสัยทัศน์เดิมใช้มากว่า 10 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ขับเคลื่อนองค์กรจนบรรลุเป้าหมายหมดแล้ว ทั้งการเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตขนาดใหญ่สุดในประเทศและทำธุรกิจที่ติดอันดับโลก โดยติดอันดับบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกจากฟอร์จูน 500 และเป็น Energy company

สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่จะเน้น Powering life คือ การเป็นองค์กรที่ให้พลังกับคนและประเทศ ซึ่งสะท้อนตัวตนของ ปตท.ที่จะก้าวต่อในอนาคต และ ปตท.เตรียมสื่อสารวิสัยทัศน์ใหม่ให้พนักงาน ปตท.วันที่ 25 มี.ค.นี้

เกาะเทรนด์เทรนด์ธุรกิจ EV

ทั้งนี้ ปีนี้กลุ่ม ปตท.จะพยายามดำเนินการเรื่องใหม่ หลังจากที่บริบทเปลี่ยนไป ประเทศตัวปรับตัวและการลงทุนใหม่ๆ ต้องดึงใหม่ เช่น รถอีวี กำลังจะเข้ามาขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปกำลังจะหมดไป แล้วไทยจะทำอย่างไรเพื่อรองรับสิ่งที่จะถดถอย ซึ่งขณะนี้ต้องทำงานร่วมกันและประสานภาครัฐดึงการลงทุนใหม่และสร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้ประเทศ

ส่วนผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เป็น “ดับเบิ้ล เอฟเฟค” ของ ปตท.เพราะเจอผลกระทบโควิด-19 แล้วยังเจอสงครามราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบตกไประดับ 13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นช่วงวิกฤติของบริษัทพลังงาน

แต่ทุกวิกฤติจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เผชิญกับปัจจัยที่ “ควบคุมได้” และ “ควบคุมไม่ได้” ดังนั้นจึงกลับมาโฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้ เพื่อให้ ปตท.มีความยืดหยุ่นและผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้ด้วยการทำแผนลดต้นทุน การจัดลำดับการลงทุนใหม่ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และในจังหวะที่องค์กรยังแข็งแรงก็เสริมสภาพคล่อง ด้วยการออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาท และอีก 700 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน

ปรับโครงสร้าง 6 ธุรกิจใหม่

ดังนั้น โควิด-19 ส่งกระทบต่อทั่วโลก แต่หลังจากโรคเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เชื่อว่าโลกจะต้องเปลี่ยนไป ปตท.จึงตั้งทีม Reimagine คู่ขนานมารองรับการเปลี่ยนแปลงดูเรื่อง “New Normal” เพื่อปรับทิศทางธุรกิจที่มีอยู่และรองรับธุรกิจใหม่ ประกอบกับเทรนด์ของพลังงาน แม้ว่าไม่มีโควิด-19 ก็ต้องเปลี่ยนไป และ ปตท.ถือโอกาสปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับสิ่งที่ต้องทำให้อนาคต โดยจัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ได้แก่

1.ธุรกิจ New Energy ลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า แตะ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 การสร้างโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.นี้

อีกทั้งตั้งบริษัทใหม่ที่ ปตท.ให้ความสำคัญกับการมีพันธมิตรใหม่ และเปิดรับร่วมลงทุนในธุรกิจ เช่น จัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform

2.ธุรกิจ Life Science โดยจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งระยะต่อไปอาจเห็นการทยอยปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) การร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565

“โออาร์”หัวหอกธุรกิจไลฟ์สไตล์

3.ธุรกิจ Mobility & Lifestyle จะมี บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นหัวหอกหลัก เข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับ LINE MAN จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว และจะขยายสาขาต่อไป และเมื่อเร็วๆนี้ OR ก็มีพันธมิตรใหม่ คือ โอ้กะจู๋ เป็นร้านอาหารที่รับกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ก็เป็นการผันตัวไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non oil) มากขึ้น

4.ธุรกิจ High Value Business จะเป็นการผันตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ไปเน้นเรื่องของการผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นสเปเชียลตี้ แม้ว่าโควิด-19 ก็กระทบต่อราคาปิโตรเคมี แต่มองว่าในระยะยาวยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต โดยจะเน้นต่อยอดสู่การผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

5.ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ได้เริ่มจับมือพันธมิตรเข้าร่วมประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก ระบบร่าง ที่มีโอกาสเห็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาอีกต่อเนื่อง และ ปตท.สนใจเข้าไปร่วมพัฒนาหลายโครงการ

6.ธุรกิจ AI & Robotics Digitalization ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ก็มีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรน เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ทางธุรกิจ รวมถึงจับมือพันธมิตร เข้าไปใช้บริการโรงงานที่ต้องการใช้ดิจิตัลเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/928121